การมีแรงขับเคลื่อนในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเริ่มจากการมีจุดมุ่งหมายในการทำอะไรสักอย่าง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “เป้าหมาย” ที่จะทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต เฉกเช่นเดียวกัน การตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายว่า อยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอนาคต ก็เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ แน่นอนว่า การไปให้ถึงเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การตั้งเป้าหมาย ซึ่งถือว่า เป็นการติดกระดุมเม็ดแรก จึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้การบรรลุเป้าหมายนั้นสัมฤทธิ์ผล ส่วนจะต้องกำหนดหรือมีแผนอย่างไรเพื่อให้เราออกกำลังกายอย่างชาญฉลาดนั้น มาดูกันเลย
- เป้าหมายชัดเจน วัดผลได้
ลำดับแรกเลย เป้าหมายต้องชัดเจนมากพอ และสามารถวัดผลได้ โดยระบุเป้าหมายที่เจาะจง ชัดเจน เช่น ต้องการลดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม เป็นต้น หลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายแบบนามธรรม เช่น อยากผอม อยากเอวเล็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่รู้ว่าจะวัดผลได้อย่างไร
- ระบุเวลาที่แน่นอน
เมื่อได้ความชัดเจนในสิ่งที่ต้องการแล้ว ต่อมา ต้องระบุกรอบระยะเวลาที่ต้องการไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่การระบุเวลาดังกล่าวต้องสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัมภายในหนึ่งสัปดาห์ นอกจากจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจ เกิดความท้อใจ แล้วยังเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และไม่ยั่งยืน สำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก อาจเริ่มจากหลักการพื้นฐานง่าย ๆ ว่า คนทั่วไปจะสามารถลดน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัมภายใน 2 สัปดาห์ ด้วยการลดปริมาณแคลอรี่ 7,700 กิโลแคลอรี่ แต่การลดแคลอรี่แต่ละวันต้องไม่เกินวันละ 500 กิโลแคลอรี่ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน แต่ยังเพิ่งตกใจไป อ่านข้อต่อไปของเราก่อน
- มีเป้าหมายใหญ่ อย่าลืมที่จะมีเป้าหมายเล็ก
เป้าหมายใหญ่อาจดูอยู่ไกลเสียเหลือเกิน เพื่อมิให้เป้าหมายนั้นทำลายกำลังใจของเรา เราจึงควรกำหนดเป้าหมายขนาดเล็กและระยะสั้นไว้ด้วย เพราะการมีเป้าหมายระยะสั้น จะทำให้เรามีกำลังใจ และมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้มากกว่า เช่น จากตัวอย่างเป้าหมาย 10 กิโลกรัม ภายใน 5 เดือนข้างต้น ตัดทอนลงมาเหลือเป็นเป้าหมายระยะสัปดาห์ ก็จะเหลือแค่เป้าหมายการลดน้ำหนักสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัมเท่านั้น หรือลดปริมาณแคลอรี่ลงวันละ 500 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเท่ากับข้าวผัดกระเพรา 1 จาน ฟังดูเป็นไปได้แล้วใช่ไหม
- สร้างวินัย สะกดใจตัวเอง
การมีแผนและตารางการออกกำลังกายที่ชัดเจนอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เหนืออื่นใด ต้องมีวินัยและสร้างนิสัยใหม่ให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ในแต่ละวัน อย่ายอมพ่ายแพ้ให้กับนิสัยเดิม แล้วนับหนึ่ง เพื่อลงมือสร้างคนใหม่ในแบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม อาจมีบ้างที่ระหว่างทาง อาจพบเจออุปสรรค ความเหนื่อยล้า หรือเจ็บปวดตามร่างกาย ให้คำนึงเสนอว่า No Pain No Gain ที่รู้สึกเจ็บ ที่รู้สึกเหนื่อย แสดงว่าที่ลงมือทำไป ได้ผลแล้ว และสิ่งที่ตามมา คือ ความภาคภูมิใจในตัวเอง
- ให้รางวัลตัวเองบ้าง
การมีความมุ่งมั่นนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเคร่งครัดหรือกดดันตัวเองมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายและสมองเกิดความเครียดจนเกิดความท้อแท้และเหนื่อยล้ามาในภายหลัง เราจึงควรรู้จังหวะในการพักกายและใจ ให้รางวัลกับตัวเองเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเดินหน้าต่อไปยังเป้าหมายที่ใหญ่ยิ่งขึ้น แนะนำให้จดบันทึกการเดินทางไปสู่เป้าหมาย หรือถ่ายรูปวัดผลลัพธ์ และแม้ว่าอาจจะยังไม่เห็นผลด้วยตาโดยทันที แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย เช่น ซิตอัพได้จำนวนครั้งมากขึ้น หรือวิ่งได้นานขึ้น ก็เป็นตัวแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ลองนำสิ่งเหล่านั้น กลับมาย้อนดูเพื่อจะได้รู้ว่า อดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกันมากแค่ไหน แล้วนำมาฉลองให้กับความสำเร็จ แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็สามารถเพิ่มพูนกำลังใจให้แก่ตัวเองได้
- ปล่อยวางกับผลลัพธ์
อย่าลืมให้ความสำคัญกับปัจจุบัน การรู้สึกดีกับตัวเอง ความรู้สึกผ่อนคลาย และสบายตัวหลังการออกกำลังกาย ถือเป็นรางวัลที่ได้รับมา แต่หากมัวแต่ให้ความสำคัญกับปลายทางเท่านั้น หมกมุ่น คาดหวัง เฝ้ารอผลลัพธ์ ก็มีแต่จะนำมาซึ่งความกังวลใจ จนละเลยความสำคัญของความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ส่งผลให้เกิดเครียดจนยอมแพ้ก่อนจะไปถึงเป้าหมาย ลองปรับมุมมองใหม่ ตั้งสติ หันมาอยู่กับนาทีนี้ที่เราลงมือทำอยู่ แล้วปล่อยวาง ปล่อยใจให้สบาย และระลึกไว้เสมอว่า การตั้งใจทำวันนี้ให้ดีที่สุด เป้าหมายจะต้องเป็นไปอย่างที่หวังได้แน่นอน
เชื่อเถอะว่า สิ่งใดก็ตามที่เราได้ลงมือทำมันจะคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้พยายาม…
……………………………………………